กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 27 จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 27 ใช้ชื่อในการแข่งขันว่า "อุตรดิตถ์เกมส์" ระหว่างวันที่ 20-31 มีนาคม พ.ศ. 2554
สัญลักษณ์การแข่งขัน
ที่มาและความหมาย
1. รูปลายเส้นพระยาพิชัยดาบหัก หมายถึง สิ่งที่ชาวเมืองอุตรดิตถ์เคารพสักการะนับถือกราบไหว้ และบูชาอันเป็นสัญลักษณ์ของชาวเมืองอุตรดิตถ์ และแสดงถึงความเป็นนักสู้
2. เลข 27 ออกแบบตะหวัดเป็นลายเส้น สีม่วงและสีส้ม ซึ่งเป็นสีของจังหวัดอุตรดิตถ์ หมายถึง การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 27
3. เส้นพลิ้ว 2 เส้นเกี่ยวตะวัติ หมายถึง เกลียวแห่งความรัก ความสามัคคีในหมู่นักกีฬาอันแสดงประสานสัมผัส ถึงการพัฒนา และส่งเสริมเยาวชนให้มีสุขภาพแข็งแรงเปรียบเสมือนพลังที่ขับเคลื่อนให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าต่อไป
4. สัญลักษณ์การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงปรัชญาการดำเนินงานของการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของคนและกีฬาต่าง ๆ อย่างแท้จริง สีแดง ขาว น้ำเงิน สื่อความหมายถึงความร่วมมือร่วมใจ ร่วมพลังของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่รัฐบาลและเอกชน
สัญลักษณ์นำโชค
“ จ้อย ” เป็นชื่อจริงของพระยาพิชัยดาบหัก ต่อมาเมื่อออกมาจากเมืองพิชัย จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “ ทองดี ” เจ้าจ้อยเป็นชื่อของเด็กหนุ่ม มีนิสัยรักสนุก ไม่ข่มเหงรังแกงใคร แต่ก็ไม่ยอมให้ใครมาข่มเหง เป็นคนล่ำสัน แข็งแรง หัดวิชามวยไทยมาตั้งแต่เด็ก จึงเป็นนักสู้ และเป็นคนกตัญญูรู้บุญ ความหมาย เจ้าจ้อยหมายความถึงความเป็นนักสู้ นักกีฬาที่แข็งแรง มีความซื่อตรง ซื่อสัตย์ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย มีความสามัคคี การทำงานเป็นทีม (จึงได้เป็นทหารเอก ที่วางพระราชหฤทัยของพระเจ้าตากสินมหาราช) ร่างกายที่กำยำล่ำสัน ของชายหนุ่มไทย แสดงถึงสุขภาพที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังหมายถึงความ กตัญญู ซื่อสัตย์ และความกล้าหาญ ในพระราชพงศาวดาร ซึ่งเป็นเรื่องความยิ่งใหญ่ ของพระมหากษัตริย์ มีสามัญชนน้อยคนนักที่ได้เกียรติ บันทึกชื่อลงในพระราชพงศาวดาร เจ้าจ้อย หรือ พระยาพิชัยดาบหักเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเกียรตินั้น และได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของชาติผู้หนึ่ง ด้วยเหตุนี้จังหวัดอุตรดิตถ์ จึงได้นำท่านมาเป็นสัญลักษณ์นำโชคประจำการแข่งขันในครั้งนี้