Phraya Pichai Daphak(The Man who broke his sword during the fight) |
...........ครั้นเสร็จศึกจากการปราบก๊กเจ้าพระฝางได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบให้ทะแกล้วทหารของพระองค์ทั่วถึงกัน สำหรับพระยาสีหราชเดโช(จ้อย หรือ ทองดี ฟันขาว) นั้น โปรดเกล้าฯบำเหน็จความชอบให้เป็นพระยาพิชัย ปกครองเมืองพิชัยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนแต่เยาว์วัยมา ให้มีอำนาจประหารผู้กระทำผิดได้เพราะเมืองพิชัยเป็นเมืองหน้าด่าน ต้องมีการบังคับบัญชาที่เด็ดขาด ซึ่งในเวลานั้นพม่ากำลังมีอำนาจครอบครองอยู่ทั่วลานนา
เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้ว พระองค์เจ้าเสด็จกลับกรุงธนบุรี แต่ก่อนจาก ทรงเรียกหาพระยาพิชัยให้เข้าเฝ้าโดยเฉพาะ ทรงรับสั่งอาลัยในมหาดเล็กข้าหลวงเดิมของพระองค์ ตั้งแต่ครั้งพระองค์เป็นเจ้าเมืองตากและได้เป็นคู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขอาบเหงื่อต่างน้ำมาราชการสงคราม ยังไม่เคยห่างไกลจากพระองค์แม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งเปรียบประดุจพระยาพิชัยเป็นโล่ห์คอยกำบังอาวุธนานาชนิดที่จะมาต้องพระองค์ และในครั้งนี้ต้องจากกันเพราะพระราชประสงค์จะให้พระยาพิชัยเป็นป้อมปราการยันพม่าที่เมืองพิชัยนี้...................
พระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้เมืองพิชัยเป็นที่รวมพลถึงสองครั้งคือ ในปีพ.ศ. 2313 และ2314 และในปีพ.ศ.2315 พม่ายกกำลังมาตีเมืองพิชัยแต่ไม่สามารถตีได้ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิชัยอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2316 เจ้าพระยาสุรสีห์และพระยาพิชัยยกกองทัพไปสกัดทัพพม่าแตกกลับไป การรบในครั้งนี้ ดาบคู่มือของพระยาพิชัยได้หักไปหนึ่งเล่ม แต่พระยาพิชัยก็ยังคงสู้รบกับพม่าจนได้รับชัยชนะด้วยดาบดีเล่มหนึ่งกับดาบหักอีกเล่มหนึ่ง ด้วยวีรกรรมในครั้งนี้ พระยาพิชัยจึงได้สมญานามว่า"พระยาพิชัยดาบหัก"มาจนถึงปัจจุบันนี้
เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2317 พระยาพิชัยก็คงอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญของกองทัพจนกระทั่งฝ่ายไทยยึดเมืองเชียงใหม่ได้ จึงเป็นอันว่าหัวเมืองฝ่ายเหนือตกเป็นของไทยมาตั้งแต่บัดนั้น